วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

มารู้จักพระธาตุดุม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนครกันครับ

                                         ประวัติพระธาตุดุม


พระธาตุดุม ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุดุม มีชุมชนล้อมรอบวัด พระธาตุดุมมีปรางค์องค์เดียวสร้างด้วยศิลาแลงสมัยเดียวกับพระธาตุนารายณ์เจงเวง แต่องค์ปราสาทเล็กกว่ามีเพียงยอดเดียวไม่มีฐานรองรับ พบทับหลังทั้ง 4 ด้าน ด้านทิศเหนือเป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ นอกจากนี้ยังมีภาพเทวดาทรงพาหนะเหนือหน้ากาลประกอบด้วยสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง สิงห์ และลายใบไม้ม้วน การกำหนดอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16-17 ศิลปะเขมรแบบบาปวน

   

   วัดพระธาตุดุมเป็นวัดหนึ่งที่มีโบราณสถานสำคัญ คือ พระธาตุดุม หรือปราสาทพระธาตุดุม ซึ่งอยู่ห่างจากพระธาตุเชิงชุมประมาณ ๒ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากคูเมืองสกลนครชั้นนอกเพียงเล็กน้อย จึงเชื่อว่าแต่เดิมที่ตั้งบริเวณพระธาตุดุมคงเป็นหมู่บ้านทางด้านทิศใต้ของคูเมืองชั้นนอกแต่ต่อมาได้รกร้างไป เพิ่งจะตั้งเป็นหมู่บ้านธาตุดุม ตำบลงิ้วด่อน เมื่อประมาณ ๒๐ ปีมานี้เอง 


            อย่างไรก็ตามในทางโบราณคดีถือว่า ปราสาทพระธาตุดุม น่าจะเป็นปราสาทอิฐที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตอนต้น ดังจะเห็นว่ามีแผ่นทับหลังทิศใต้เหลืออยู่เป็นภาพสลักตามแบบศิลปสมัยคลัง ส่วนคติที่ว่าสร้างเนื่องในพุทธศาสนา หรือคติพราหมณ์ลัทธิฮินดูนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาจเป็นไปได้ที่สร้างเนื่องในคติพุทธศาสนามหายาน ซึ่งจะพบลักษณะกู่แบบนี้หลายแห่งในจังหวัดมหาสารคามและภาคอีสานตอนบน แสดงว่ามีการซ่อมโบราณสถานแห่งนี้ในเวลาต่อมาหลังจากพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ซึ่งเป็นช่วงที่พุทธศาสนาหินยานได้จากอาณาจักรล้านช้างได้แพร่หลายเข้าสู่ดินแดนภาคอีสานแถบลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนอีกครั้งหนึ่ง ดังปรากฏศิลาจารึกที่กล่าวถึงนามของพระภิกษุ "พระมหาเชียงดุมเจ้า" ซึ่งขุดพบโดยกรมศิลปากร 


             วัดพระธาตุดุมเป็นวัดที่สร้างขึ้นใหม่เมื่อมีหมู่บ้านขนาดเล็กไม่นานมานี้ โดยสภาพหมู่บ้านรุ่นแรกที่ตั้งขึ้น เป็นหมู่บ้านของชาวนา ดังนั้นการก่อสร้างอาคารกุฏิจึงสร้างอย่างสภาพพออยู่อาศัยได้เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นการสร้างอาคารอื่น ๆ โบสถ์ วิหาร ศาลา หอฉัน ยังมิได้สร้างขึ้นโดยเฉพาะ ดังนั้นทางวัดจึงต้องสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์รวมกันได้ทั้งหมด นั้นคือการสร้างศาลาวัดและขณะเดียวกันก็ใช้สำหรับประกอบพิธีลงอุโบสถของพระภิกษุสงฆ์ไปพร้อมกันด้วย
เมื่อมีการสร้างศาลาวัด ทางวัดมิได้มีความเข้าใจกฏระเบียบของกรมศิลปากรที่ให้สร้างห่างจากโบราณสถาน ๑๐ เมตร แต่ทางวัดกลับสร้างอาคารศาลาประชิดตัวองค์พระธาตุดุม นอกจากนี้ยังสร้างถังเก็บน้ำฝนบริเวณด้านศาลา ซึ่งขัดต่อทัศนวิสัยการมองเห็นองค์พระธาตุนับเป็นปัญหาสำคัญ 




                 วัดพระธาตุดุมแบ่งเขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาสออกจากกันค่อนข้างชัดเจนส่วนที่เป็นกุฎิที่อยู่ของพระภิกษุสงฆ์อยู่ด้านหลังองค์พระธาตุ ถือเป็นเขตสังฆาวาส ส่วนบริเวณศาลาและองค์พระธาตุถือเป็นเขตพุทธาวาส
                 ในสภาพปัจจุบัน บริเวณวัดพระธาตุดุม โดยเฉพาะหน้าองค์พระธาตุได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าสภาพเดิมเป็นอันมาก ทั้งนี้โดยงบประมาณสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยว่าจ้างเทศบาลสกลนครตกแต่งให้มีทางเข้า ที่จอดรถยนต์ และทางวัดจัดให้รถยนต์วิ่งได้ตามถนนรอบนอกพระธาตุ
            ข้อมูลเพื่อการเดินทางไปวัดพระธาตุดุม  พระธาตุดุมอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมืองจังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุดุม บ้านธาตุดุม ตำบลงิ้วดอน ถนนสาย รพช. ทางไปโรงเรียนพัฒนศึกษา ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 5 กิโลเมตร หากท่านสนใจที่จะมาเที่ยวชุมโบราณสถานในจังหวัดสกลนคร มีอยู่มากมาย ทั้งพระธาตุเชิงชุม พระธาตุนารายเจงเวง พระธาตุภูเพก หรือสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติเช่นหนองหารหลวง พระตำหนักภูพานราชนิเวช อุทยานแห่งชาติภูพาน เป็นต้น
          ทางรถยนต์   สามารถเดินทางด้วยรถโดยสารปรับอากาศวีไอพี,ชั้น1,ชั้น2จากสถานีขนส่งหมอชิต มีทั้งช่วงเช้าและบ่าย

           ทางอากาศ   สามารถเดินทางโดยทางเครื่องบินจากสนามบินดอนเมืองด้วยสายการบินนกแอร์มีบริการวันละ 4 เที่ยวบินทุกวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น