วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ไปทอดกฐินที่วัดถ้ำโพรงและประเพณีการทอดกฐิน

 เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๔ ผมได้มีโอกาสไปทอดกฐินที่วัดถ้ำโพรง กับท่านส.ว.ประดิษฐ์ ตันวัฒนะพงษ์พร้อมภริยา ดร.วิลาวัลย์ ตันวันฒนะพงษ์ พร้อมคณาจารย์ศิษย์เก่าโรงเรียนเทคโนโลยีพณิชการสกลนคร พร้อมด้วยประชาชนชาวจังหวัดสกลนครได้มีศรัทธาร่วมกันร่วมแรงร่วมใจกันทำบุญถวายจตุปัจจัยทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ช่วงเช้าก็ร่วมกันทำบุญตักบาตร มีพุทธศาสนิกชนมาร่วมงานกันอย่างคับคลั่ง เมื่อพระสงค์ พระอาจารย์ร่วมทั้งเจ้าอาวาส พร้อมด้วยคณะสงค์ได้ฉันพัตาหารแล้วก็ได้ร่วมกันทอดถวายผ้าพระกฐินจนแล้วเสร็จพิธี อิ่มบุญกันถ้วนหน้าครับ จึงได้เก็บภาพบรรยมากาศมาฝาก วัดถ้ำโพรงอยู่ที่บ้านสร้างแก้ว ตำบลสร้างค้อ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนครโดยมีพระอาจารย์ถาวร ญาณวีโร เป็นเจ้าอาวาส

ทางเข้าวัดป่าถ้ำโพรงบรรยากาศร่มรื่น

ท่านส.ว.กับพระอาจารย์ถาวร ญาณวิโร เจ้าอาวาส

ตักบาตรเช้า







พุทธศาสนิกชนร่วมกันใส่บาตรทำบุญ























               เรื่องการทอดกฐิน

เป็นประเพณีไทยที่สำคัญมาก เป็นพระราชพิธีใหญ่มีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยและอยุธยา ภาพเขียนพิธีกฐินมีการแห่ทั้งชลมารคและสถลมารคอยู่ที่ตู้พระไตรปิฎก วัดอนงคาราม และยังปรากฏในที่อีกหลายแห่ง

ในจดหมายเหตุของบาดหลวงเดอชัวลี ได้พรรณนาถึงกฐินหลวง ซึ่งงดงามโอ่อ่าที่สุด ในบรรดาพระราชพิธีทั้งหลายของกษัตริย์อยุธยา

ความหมายของกฐิน

๑ คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของสังฆกรรมชนิดหนึ่งในพระพุทธศาสนาที่ต้องใช้พระสงฆ์ร่วมเป็นพยานในการทำ ๕ รูปเป็นอย่างน้อย คือ ๔ รูป เป็นองค์สงฆ์หรือพยาน และอีก ๑ รูปเป็นองค์ครองผ้ากฐิน รวมเป็น ๕ รูป ภาษาสังฆ์กรรมของพระเรียกว่า "ปัญจวรรค"

๒. กฐิน แปลว่า สุก หมายความว่าผู้ที่จะรับกฐินได้ต้องบ่มตัวให้สุกเสียก่อน เมื่อถึงเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา คือเดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ พระภิกษุทั้งหลายจะต้องลงไปประชุมพร้อมเพรียงกันในพระอุโบสถ ไหว้พระสวดมนต์ แล้วทำพิธีอธิษฐานพรรษา ว่าข้าพเจ้าเข้าจำพรรษาตลอดไตรมาศ ๓ เดือน ในอาวาสหรือกุฎีหลังนี้ ตามคำอธิษฐานพรรษาทั้งสองประเภทนี้ หมายความว่าต้องตั้งใจไว้อย่างแน่วแน่ว่าจะไม่หนีไปค้างคืนวัดอื่นเลยตลอด ๓ เดือน และจะต้องนอนค้าง คือเฉพาะกุฏิของตัวเองเท่านั้นตลอด ๓ เดือน จะไปค้างคืนที่อื่นไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าไปก็ต้องขาดพรรษา และต้องอาบัติทุกกฏ เว้นไว้แต่มีกิจจำเป็นตามพระวินัย ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ เรียกว่า สัตตาหะ คือให้ไปกลับได้ภายใน ๗ วัน เหตุจำเป็นนั้นคือ

๑) สหธรรมิก หรือมารดาบิดาเจ็บไข้ ไปเพื่อรักษาพยาบาล
๒) สหธรรมิก กระสันจะสึก ไปเพื่อระงับ
๓) มีกิจสงฆ์เกิดขึ้น เช่น วิหารชำรุดลงในเวลานั้น ไปเพื่อหาเครื่อง สัมภาระ มาปฏิสังขรณ์ซ่อมแซม
๔) ทายกต้องการจะบำเพ็ญบุญกุศล ส่งมานิมนต์ไปเพื่อบำรุงศรัทธา แม้ธุระอื่นนอกจากนี้ที่เป็นกิจลักษณะก็อนุโลมตามนี้ได้

ถ้าพระภิกษุรูปใด ไปด้วยเหตุที่ควรไปดังกล่าวมานั้นเกิน ๗ วันไปก็ดี หรือไปโดยไม่มีเหตุก็ดี พระภิกษุรูปนั้นขาดพรรษา ไม่ได้อานิสงส์พรรษาและไม่ได้อานิสงส์กฐิน ทั้งยังห้ามนับพรรษานั้นอีกด้วย
เพราะฉะนั้นคำว่า กฐิน จึงได้แปลว่า สุก เพราะผู้ที่เข้าจำพรรษาตลอดไตรมาศ เท่านั้นจึงจะรับกฐินได้ ถ้าพรรษาขาดก็รับไม่ได้ ผู้ที่เข้าจำพรรษา ชื่อว่าได้บ่มตัวให้สุกด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ตามสมควร แก่สติปัญญา และวาสนาบารมีของตนๆ เมื่อบ่มตัวให้สุกโดยทำนองนี้แล้ว จึงจะสมควรจะรับกฐิน ดังนั้นกฐินจึงได้แปลว่าสุก ดังกล่าวมา

๓. กฐิน แปลว่า แก่กล้า หมายความว่า พระสงฆ์ที่จะรับกฐิน กรานกฐินนั้นต้องแก่กล้าด้วยสติปัญญา มีความฉลาดสามารถที่จะรับผ้ากฐินได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ คือ

๑) รู้จักบุพกร คือ ธุระอันจะพึงทำในเบื้องต้นแห่งการกรานกฐิน ๗ อย่าง คือ ซักผ้า๑ กะผ้า๑ ตัดผ้า๑ เนาหรือด้นผ้าที่ตัดแล้ว๑ เย็บเป็นจีวร๑ ย้อมจีวรที่เย็บแล้ว๑ ทำกัปปะคือ พินทุ๑
๒) รู้จักถอนไตรจีวร
๓) รู้จักอธิษฐานไตรจีวร
๔) รู้จักการกราน
๕) รู้จักมาติกา คือ หัวข้อแห่งการเดาะกฐิน
๖) รู้จักปลิโพธิกังวล เป็นเหตุยังไม่เดาะกฐิน
๗) รู้จักการเดาะกฐิน
๘) รู้จักอานิสงส์กฐิน

และทายกทายิกา ผู้เป็นเจ้าภาพ ที่จะถวายกฐินก็ต้องมีศรัทธาแก่กล้าด้วยจึงจะทำได้ เพราะต้องลงทุนมากอยู่ คือจะต้องซื้อเครื่องอัฏฐบริขาร และเครื่องบริวารอีกมากมาย เพื่อถวายพระสงฆ์สามเณร ผู้อยู่จำพรรษาถ้วนไตรมาศ และถวายปัจจัยบำรุงวัดตามสมควร เพราะเหตุดังนี้ กฐินจึงได้แปลว่า แก่กล้า คือต้องแก่กล้าด้วยกันทั้งทายก และปฏิคาหก

๔. กฐิน แปลว่า แข็ง หมายความว่า ใจแข็ง คือพระสงฆ์ต้องมีกำลังใจอันเข้มแข็ง อดทน ต้องช่วยกันจัด ช่วยกันทำให้สำเร็จภายในวันนั้น และทายกก็ต้องมีใจแข็งระวังมิให้กิเลสครอบงำได้แก่ ละความตระหนี่ยินดีในทานการกุศล ให้ใจของตนแข็งแกร่ง อยู่ในเจตนาทั้งสามกาล คือ

๑) ก่อนแต่จะถวายก็ให้มีความดีใจ
๒) กำลังถวายอยู่ก็ให้มีความดีใจ
๓) ถวายเสร็จแล้วก็ให้มีความดีใจ ถึงแม้ว่าของจะแตกของจะหายก็จงระวังใจให้ดี อย่าให้ใจขุ่นได้แม้แต่น้อย ต้องพยายามรักษาเจตนาทั้งสามนี้ให้บริบูรณ์ จึงจะได้บุญมาก ได้อานิสงส์มาก ถูกต้องตามทำนองครองธรรมแท้ อาศัยเหตุดังนี้ กฐินจึงแปลว่า แข็ง

๕. นอกจากนี้คำว่า "กฐิน" เป็นชื่อของไม้ชนิดหนึ่งซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ขึงในเวลาเย็บจีวร ภาษาไทยเรียกว่า "ไม้สดึง" ภาษาบาลีใช้คำว่า "กฐิน" ขณะเดียวกันภาษาไทยได้ยืมภาษาบาลีมาเป็นภาษาของตัวเองโดยการเรียกทับศัพท์ไปเลยว่า ผ้ากฐินหรือบุญกฐิน

ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อน แล้วจึงเย็บเพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมื่อนสมัยปัจจุบันนี้ และเครื่องมือในการเย็บก็ยังไม่เพียงพอ เหมือนจักรเย็บผ้าในปัจจุบัน การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน ถ้าภิกษุทำเอง ก็จัดเป็นงานเอิกเกริกทีเดียว เช่นตำนานกล่าวไว้ว่า การเย็บจีวรนั้น พระเถรานุเถระต่างมาช่วยกัน เป็นต้นว่า พระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ แม้สมเด็จพระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วย ภิกษุสามเณรอื่น ๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่มเป็นต้น มาถวายพระภิกษุสงฆ์ มีองค์พระสัมมาสัมพุทธะเป็นประธาน โดยนัยนี้ การเย็บจีวรแม้โดยธรรมดา ก็เป็นการต้องช่วยกันทำหลายผู้หลายองค์ (ไม่เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งมีจีวรสำเร็จรูปแล้ว)

บุญกฐิน มีกำหนดทำกันในระหว่างแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ สำหรับจุดประสงค์หลักของการทำบุญกฐินนั้น เพื่อที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาแล้วได้ผลัดเปลี่ยนผ้าใหม่ โดยได้มีมูลเหตุของบุญกฐินปรากฎในกฐินขันธะแห่งพระวินัยปิฎก และฎีกาสมันตปาสาทิกา ไว้ว่า:-

สมัยหนึ่ง ได้มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐาจำนวน ๓๐ รูป พากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ขณะนั้นวันจำพรรษาได้ไกล้เข้ามา พวกภิกษุเหล่านั้นจึงได้พากันจำพรรษาที่เมืองพระเชตวันมหาวิหาร ตลอดระยะเวลาสามเดือนที่จำพรรษาภิกษุเหล่านั้นมีความตั้งใจอยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องไปเฝ้าพระพุทธเจ้าให้ได้ ครั้นพอ ออกพรรษาแล้ว พากันออกเดินทางกรำฝนทนแดดร้อนไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

ขณะฤดูฝนยังไม่ทันจะล่วงพ้นสนิท ทำให้พวกภิกษุชาวเมืองปาฐาเหล่านั้นมีจีวรเปียกชุ่มและเปื้อนด้วยโคลนตม พอไปถึงพระเชตวันมหาวิหารได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงเห็นใจในความยากลำบากของภิกษุเหล่านั้น จะไม่เอาไตรจีวรไปครบชุดก็ผิดวินัย เมื่อเอาไปก็ไม่สะดวกในการเดินทาง พระองค์จึงทรงประชุมสงฆ์ จึงทรงบัญญัติเรื่องกฐินขึ้น ความว่า ภิกษุอยู่จำพรรษาครบ ๓ เดือนแล้ว ทรงอนุญาตให้กรานกฐิน (รับกฐิน) เมื่อได้กรานกฐินแล้ว ให้ได้รับอานิสงส์ยกเว้นจากพระวินัย ๕ ข้อ คือ

๑) อยู่ปราศจากไตรจีวรได้ จะไปค้างคืนที่ไหน ไม่ต้องถือเอาไตรจีวรไปครบสำรับก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ
๒) จะไปไหนมาไหน ไม่ต้องบอกลาก็ได้ ไม่ต้องอาบัติ
๓) ฉันคณะโภชน์ได้ ไม่ต้องอาบัติ
๔) เก็บอดิเรกจีวรไว้ได้ตามปรารถนา
๕) จีวรอันเกิดขึ้นในที่นั้น เป็นของได้แก่พวกเธอทั้งได้โอกาสขยายเขตจีวรกาล ให้ยาวออกไปอีกจนถึงกลางเดือน

จึงอนุญาตให้หาผ้ากฐินหรือผ้าที่ขึงเย็บด้วยไม้สะดึงมาใช้เปลี่ยนถ่ายแทนผ้าเก่า ฝ่ายนางวิสาขามหาอุบาสิกาเมื่อได้ทราบถึงพุทธประสงค์แล้ว นางก็ได้นำผ้ากฐินไปถวายแด่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน และนางได้เป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้ากฐินในพระพุทธศาสนา

ประเภทของกฐิน โดยทั่วไปจะเป็นที่เข้าใจว่ากันว่ากฐินมี ๒ แบบ คือ "จุลกฐิน" และ "มหากฐิน"

๑. จุลกฐิน แปลว่า กฐินน้อย กฐินด่วน กฐินแล่น กฐินวัง คือใช้เวลาตระเตรียมน้อย ได้แก่ มีจำกัดเวลาว่า ต้องรีบทำในวันนั้นทอดวันนั้น ไม่มีเวลาให้ตระเตรียมล่วงหน้าไว้ และการตระเตรียมนั้นโดยมากนิยมเริ่มต้นตั้งแต่กรอเส้นด้ายบ้าง ตั้งแต่ทอเป็นผืนบ้าง ตั้งแต่การปลูกฝ้ายเก็บฝ้ายบ้าง เช่น เอาดอกฝ้ายที่เก็บไว้นานแล้วไปติดตามต้นฝ้ายที่สมมติขึ้น นำมากรอให้เป็นเส้น ทอให้เป็นผืน ตลอดจนให้ได้ถวายทันกำหนดเวลาในวันนั้น อย่างนี้เรียกว่า จุลกฐิน กฐินชนิดนี้นานๆ จะมีคนทำ เพราะความยุ่งยากและต้องใช้คนมาก ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจกันจริงๆ ส่วนใหญ่จะนิยมทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการทอดกฐิน

วิธีทอดจุลกฐินนี้ มีปรากฏในหนังสือเรื่องคำให้การชาวกรุงเก่าว่า บางทีเป็นของหลวงทำในวันกลางเดือน ๑๒ คือ ถ้าสืบรู้ว่าวัดไหนยังไม่ได้รับกฐิน ถึงวันกลางเดือน ๑๒ อันเป็ฯที่สุดของพระบรมพุทธานุญาตซึ่งพระสงฆ์จะรับกฐินได้ในปีนั้น จึงทำผ้าจุลกฐินไปทอด มูลเหตุของจุลกฐินคงเกิดแต่จะทอดในวันที่สุดเช่นนี้ จึงต้องรีบร้อนขวนขวายทำให้ทัน เห็นจะเป็นประเพณีมีมาเก่าแก่ เพราะถ้าเป็นชั้นหลังก็จะเที่ยวหาซื้อผ้าไปทอดได้หาพักต้องทอใหม่ไม่" (จากวิธีทำบุญ ฉบับหอสมุด หน้า ๑๑๙)
๒. มหากฐิน แปลว่า กฐินใหญ่ คือ กฐินที่ใช้เวลาตระเตรียมไว้นาน หมายความว่า ทายกผู้เป็นเจ้าภาพนั้นจะเริ่มตระเตรียมจัดแจงแสวงหาสิ่งของมารวบรวมไว้ล่วงหน้านานเท่าไรก็ได้ มีของดีมีของมาก อย่างนี้เรียกว่า มหากฐิน แต่ก็เป็นที่นิยมทำกันเพราะมีความสะดวกพอสมควร


ประเภทของกฐินอีกอย่างหนึ่งคือ

๑. กฐินหลวง ได้แก่ กฐินอันเป็นส่วนของพระมหากษัตริย์ ที่ทรงพระราชศรัทธาถวายแด่พระสงฆ์ผู้จำพรรษาถ้วนไตรมาศ ในพระอารามหลวงทั้งมวล

๒. กฐินราษฎร์ ได้แก่ กฐินที่เป็นส่วนของข้าราชการ พ่อค้า ประชาราษฎร์ทั่วไป ซึ่งนำไปทอดถวายแด่พระสงฆ์ผู้อยู่จำพรรษาตลอด ๓ เดือน ในวัดราษฎร์นั้น
กฐินหลวงก็ดี กฐินราษฎร์ก็ดี เมื่อว่าโดยความมุ่งหมายทางพระวินัยแล้ว ก็ให้สำเร็จประโยชน์แด่พระสงฆ์เป็นอย่างเดียวกัน คือได้รับอานิสงส์ ๕ เท่ากัน

ใครเป็นผู้ทอดกฐิน?

ทายกผู้ทอดกฐินนั้น จะเป็นเทวดาก็ได้ มนุษย์ก็ได้ คฤหัสถ์ก็ได้ สหธรรมิกทั้ง ๕ คือ ภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรีก็ได้ ผู้เดียวทอดก็ได้ หลายคนรวมกันเป็นเจ้าภาพทอด ซึ่งเรียกว่า กฐินสามัคคีก็ได้ ย่อมสำเร็จประโยชน์แก่สงฆ์ผู้รับเหมือนกันหมด

องค์กฐินได้แก่อะไร? เพราะเหตุไร?

ได้แก่ ผ้าที่จัดขึ้นเพื่อเป็นผ้ากฐิน เพราะเป็นตัวการสำคัญกว่าบริขารอย่างอื่นๆ ในเครื่องกฐินนั้น ผ้ากฐินนั้นใช้ผ้าอย่างไหน ชนิดไหน ใช้ผ้าที่ยังไม่ได้ย้อมคือผ้าขาวก็ได้ ผ้าที่ย้อมแล้วก็ได้ ผ้าตัดสำเร็จรูปแล้วก็ได้ ผ้าที่ยังไม่ตัดสำเร็จรูปก็ได้ แต่ต้องพอที่จะทำไตรจีวร ผืนใดผืนหนึ่งได้

ในสมัยนี้ โดยมากใช้ผ้าที่สำเร็จรูปแล้วย้อมสีได้ที่ดีแล้ว ที่ใช้ผ้าขาวซึ่งไม่ได้ตัดให้สำเร็จรูปก็มี แต่น้อย แม้กฐินหลวงก็ใช้กันอยู่ทั้งสองอย่าง

กฐินมีอานิสงส์มาก เพราะได้อานิสงส์ทั้งภิกษุผู้ได้รับกฐินก็ได้อานิสงส์ ๕ คือได้รับยกเว้นจากพระวินัย ๕ ข้อ ยืดเวลาออกไปอีก ๔ เดือน คือ ไปถึงกลางเดือน ๔

๑. เป็นสังฆทาน คือต้องถวายแก่พระสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป และต้องเป็นสงฆ์ที่จำพรรษาครบ ๓ เดือนด้วย ต่ำ่กว่า ๕ รูป รับกฐินไม่ได้

๒ เป็นสังฆกรรม พระสงฆ์ได้รับแล้วต้องนำผ้ากฐินเข้าไปในสีมา ( อุโบสถ) พระคู่สวดต้องสวดมอบผ้าให้แก่องค์ครอง ตามที่ปรึกษากันไว้แล้ว จึงจะสำเร็จเป็นผ้ากฐิน

๓. เป็นกาลทาน ต้องทอดให้ตรงกับเวลาตามที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้กฐินจะทอดได้เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ก่อนนี้หรือหลังนี้ทอดไม่ได้

๔. แม้พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์ ก็ทรงถือเป็นราชประเพณีเสด็จไปบำเพ็ญกุศลพระราชทานผ้ากฐิน ณ พระอารามหลวง เป็นประจำทุกปี เรียกว่า กฐินหลวง บางครั้งก็เสด็จไปบำเพ็ญกุศล พระราชทานผ้ากฐินต้น ณ วัดราษฎร์

สรุปการทอดกฐินมีอานิสงส์มากมายหลายอย่าง หลายประการทั้งภพนี้และภพหน้า

๑. ในภพนี้ได้อานิสงส์ ดังนี้คือ

๑. ได้ช่วยกันจรรโลงพระพุทธศาสนาไว้ ให้ดำรงค์เสถียรภาพอยู่ตลอดกาลนาน
๒. ได้เพิ่มกำลังกายใจให้แก่พระสงฆ์ผู้เป็นศาสนทายาท สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป
๓. ได้ถวายอุปการะ อุปถัมภ์บำรุงแก่พระภิกษุสามเณรเป็นมหากุศลอันสำคัญยิ่ง
๔. ได้สร้างต้นเหตุของความสุขไว้
๕. ได้สร้างรากเหง้าแห่งสมบัติทั้งหลายไว้
๖. ได้สร้างเสบียงสำหรับเดินทางอันกันดาลในวัฏฏสงสารไว้
๗. ได้สร้างเกาะสร้างที่พึ่งที่อาศัยอันเกษมแก่ตัวเอง
๘. ได้สร้างเครื่องยึดเหนี่ยวแห่งใจไว้
๙. ได้สร้างเครื่องช่วยให้พ้นจากความทุกข์นานาประการ
๑๐. ได้สร้างกำลังใจอันยิ่งใหญ่ไว้ เพื่อเตรียมตัวก่อนตาย
๑๑. ได้จำกัดมลทินคือ มัจฉริยะออกไปจากขันธสันดาน
๑๒. ได้บำเพ็ญสิริมงคลให้แก่ตน
๑๓. ได้สร้างสมบัติทิพย์ไว้ให้แก่ตน
๑๔. เป็นที่รักใคร่ชอบใจของคนทั้งหลาย
๑๕. มีจิตใจผ่องใสเบิกบาน
๑๖. ได้บริจาคทานทั้งสองอย่างควบกันไปคือ อามิสทาน และธรรมทาน
๑๗. ให้ได้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ เป็นทาน
๑๘. ได้ฝังทรัพย์ไว้ในพระพุทธศาสนา คือทำทรัพย์ภายนอกให้เป็นทรัพย์ภายใน ซึ่งเรียกว่าอริยทรัพย์ คือทรัพย์อันประเสริฐ ๗ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตัปปะ เสตะ จาคะ ปัญญา
๑๙. ชื่อว่ายึดถือไว้ได้ซึ่งประโยชน์ ๒ คือ ประโยชน์ภพนี้ ๑ ประโยชน์ภพหน้า ๑

๒. อานิสงส์ในภพหน้านั้นคือ

๑. เป็นคนมั่งคั่งสมบูรณ์มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก
๒. เป็นคนสวยน่าดู น่าเลื่อมใส
๓. มีบุตรภรรยา บ่าวไพร่ เป็นคนว่าง่ายสอนง่าย
๔. มีประโยชน์เต็มเปี่ยมในเวลาจะตายและตายไปแล้ว
๕. ได้ประสบพบเห็นแต่รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ล้วนแต่ดีๆ
๖. ไม่มีภัยแก่โภคทรัพย์
๗. มีชื่อเสียงดี
๘. มีสุคติเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
๙. เป็นพลาปัจจัยให้ได้สมบัติ ๓ ประการคือ มนุษย์สมบัติ ๑ สวรรค์สมบัติ ๑ นิพพานสมบัติ ๑

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น